สถิติการค้าระหว่างประเทศไทยกับแอฟริกาใต้

สถิติการค้าระหว่างประเทศไทยกับแอฟริกาใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 47,087 view

รายงานเศรษฐกิจและการค้าไทย – แอฟริกาใต้

เดือนธันวาคม 2556

ภาพรวม

          ในปี 2555 เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดใน Sub-Sahara Africa คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของเศรษฐกิจทั้งหมด และแอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของแอฟริกาใต้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแอฟริกาใต้ (Stat SA) ในปี 2555 แอฟริกาใต้มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 2.5 ลดลงจากร้อยละ 3.1 ในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบเชิงลบจาก (1) ภาคเหมืองแร่ซึ่งมีอัตราเติบโตติดลบร้อยละ 9.3 จากผลผลิตทองคำและสินแร่อื่น รวมแพลทตินัมที่ลดลงอย่างมาก และ (2) ภาคไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำซึ่งมีอัตราเติบโตติดลบร้อยละ 2.2 จากการบริโภคที่ลดลง     

            เมื่อวันที่ 14 - 18 มิ.ย. 2556 แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Joint Trade Committee ไทย – แอฟริกาใต้ ครั้งที่ 3 ที่เมืองเคปทาวน์ (ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2546 ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2548 ที่เมืองพัทยา) มีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานร่วมกับนายวิคเตอร์ มาซาเบลา ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้ โดยการประชุมครั้งนี้ตรงกับการครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้ ในปี 2556 มีผลลัพธ์ที่สำคัญได้แก่ (1) การตั้งเป้าขยายการค้าเพิ่มเป็นสองเท่า หรือ 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2560 โดยจะพยายามยกระดับการค้าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น และร่วมมือกันส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุน (2) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ Trade and Investment South Africa (TISA) จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเดือน พ.ย. 2556  โดยจะมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสนใจ และยังเห็นชอบที่จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ MOU เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน และ (3) ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลไม้สดของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มังคุดและลำไยของไทย และองุ่น แอปเปิ้ล และลูกแพร์ของแอฟริกาใต้

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2556 สำนักงานสถิติแอฟริกาใต้ประกาศว่า (1) GDP ไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จาก           ไตรมาสที่ 2 (2) อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 3 เท่ากับร้อยละ 24.7 และ (3) อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ย. 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

สถิติการค้ารายปีไทย-แอฟริกาใต้

ในปี 2555 แอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 4,873.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ 2,839.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแอฟริกาใต้ 2,034.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าแอฟริกาใต้ 805.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2556 แอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย คงที่จากปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 4,842.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ 2,607.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแอฟริกาใต้ 2,235.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าแอฟริกาใต้ 372.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            เมื่อเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวระหว่างปี 2556 กับปี 2555 มูลค่าการค้ารวมไทย – แอฟริกาใต้ ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.64 โดยการส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้ขยายตัวลดลงร้อยละ 8.16 แต่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.87 ทำให้ภาพรวมอัตราการได้ดุลการค้าของไทยลดลงร้อยละ 53.72

 

            ตารางแสดงรายการสินค้าส่งออกและนำเข้า 10 อันดับแรกของการค้าไทย – แอฟริกาใต้

 

10 อันดับแรกของสินค้าส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้(มูลค่า: ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2556

1

รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

785.28

2

เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ

311.37

3

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

305.29

4

ข้าว

231.69

5

อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

144.02

6

ผลิตภัณฑ์ยาง

122.37

7

เม็ดพลาสติก

115.19

8

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

         100.37

9

เคมีภัณฑ์

92.04

10

น้ำมันสำเร็จรูป

69.90

 

ผลรวม 10 รายการแรก

2,277.52

               

10 อันดับแรกของสินค้านำเข้าของไทยจากแอฟริกาใต้(มูลค่า: ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2556

1

เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ

1,535.85

2

อลูมิเนียม

131.34

3

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

114.90

4

เคมีภัณฑ์

114.16

5

เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

66.18

6

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

48.18

7

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

33.03

8

ถ่านหิน

25.27

9

หนังดิบและหนังฟอก

14.56

10

สินแร่ทองแดง

12.72

 

ผลรวม 10 รายการแรก

2,096.19

 

จากข้อมูลปี 2555 ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้ ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 ของแอฟริกาใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 12 ในปี 2554 และ 13 ในปี 2553 โดยมีประเทศในทวีปเอเชียที่ติด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน (อันดับที่ 1) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 5) และอินเดีย (อันดับที่ 6)

จากข้อมูลเดือน มิ.ย. 2556 ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้ ในด้านการส่งออก ไทยเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 31 ของแอฟริกาใต้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 จากเดือน มิ.ย. 2555 โดยตลาดเอเชียที่เป็นตลาดส่งออกหลักของแอฟริกาใต้ที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่าไทย ได้แก่ จีน (อันดับที่ 1) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 3) อินเดีย (อันดับที่ 6) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 14) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (อันดับที่ 15) ไต้หวัน (อันดับที่ 16) มาเลเซีย (อันดับที่ 20) สิงคโปร์ (อันดับที่ 23) และอินโดนีเซีย (อันดับที่ 30) ในขณะที่ด้านการนำเข้า แอฟริกานำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 10 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 จากเดือน มิ.ย. 2555 โดยมีประเทศในทวีปเอเชียที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่าไทย ได้แก่ จีน (อันดับที่ 1) อินเดีย (อันดับที่ 5) และญี่ปุ่น (อันดับที่ 6)

จุดแข็งของแอฟริกาใต้

1.   แอฟริกาใต้เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจของทวีปแอฟริกา โดยเมื่อปี 2554แอฟริกาใต้ได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม G-20

2.   แอฟริกาใต้อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ ถ่านหิน แพลทตินัม ทองคำ แร่เหล็ก แมงกานีส ยูเรเนียม และโครเมียม

3.    แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีภูมิทัศน์สวยงามและมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง โดย(1) ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาแอฟริกาใต้ 11.3 ล้านคน (2) แอฟริกาใต้เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวในระดับสูง (ประมาณ 3 เท่าของค่ากลางของโลก)และ (3) ในปี 2554 เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ได้รับรางวัล ‘2011 Travellers Choice Destination Award’ ในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของโลก

4.   แอฟริกาใต้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ทันสมัย โดยเครือข่ายเส้นทางถนนและรถไฟนับว่าใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และท่าเรือแอฟริกาใต้เป็นจุดแวะพักของเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางมาจากทวีปอเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และชายฝั่งทั้งสองด้านของทวีปแอฟริกา

5.   แอฟริกาใต้ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ค่อนข้างจูงใจแก่นักลงทุนต่างชาติในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในเรื่องภาษีรายได้ ภาษีศุลกากร การนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และการอำนวยความสะดวกในการส่งออกไปยังประเทศที่สามในแอฟริกาตอนใต้ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ Trade and Investment South Africa (TISA) ที่จะคอยช่วยเหลือด้านข้อมูลและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการลงทุนในแอฟริกาใต้

6.   แอฟริกาใต้เป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีของกลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาแห่งภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (Southern Africa Development Community - SADC[1]) และบรรลุความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างแอฟริกาใต้กับสหภาพยุโรป  ตลอดจนอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับ Southern African Customs Union (SACU[2]) เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่าง SACU กับสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนที่เข้าไปทำธุรกิจเพื่อการค้า / ส่งออก น่าจะได้รับอานิสงส์จากตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ด้วย

การลงทุนระหว่างกัน: ธุรกิจที่ไทยลงทุนในแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้แก่ ธุรกิจอาหารและสปาซึ่งมีจำนวนกว่า100 – 150 ร้าน ปัจจุบัน บริษัทชั้นนำของไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในแอฟริกาใต้มากขึ้น เช่น บริษัทซีพีอินเตอร์เทรดจำกัด (อาหารแปรรูป) ซึ่งเปิดทำการในลักษณะตัวแทนการค้า (Trading Company) และบริษัทในเครืออิตัล-ไทย (ธุรกิจโรงแรมและสนามกอล์ฟ) นอกจากนี้อุตสาหกรรมผลิตสีสำหรับใช้กับถนนของไทยได้เปิดดำเนินการที่เมืองเดอร์บันแอฟริกาใต้ ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแรกของไทยที่เปิดในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้

อุปสรรค/ความท้าทาย

1.   ถึงแม้แอฟริกาใต้จะมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูง และเทียบเท่ากับประเทศตะวันตก แต่มีความแตกต่างค่อนข้างสูงในเรื่องของการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและคนจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นผิวดำ ทำให้แอฟริกาใต้มีปัญหาอาชญากรรมค่อนข้างสูง

2.   นักธุรกิจไทยยังขาดความรู้เกี่ยวกับตลาดและกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของแอฟริกาใต้

3.   ข้อจำกัดด้านจำนวนของแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งนำไปสู่ความไม่สะดวกในการจัดการทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างชาติ

4.   มีกลุ่มบริษัทใหญ่ที่ผูกขาดในธุรกิจการค้าปลีกอยู่เพียง 4 บริษัท ได้แก่ (1) Shoprite/Checkers ครองสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 33(2) Pick n’ Pay ครองสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 33 (3) Spar ครองสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 26 และ (4) Woolworth ครองสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 8 ซึ่งหากนักธุรกิจไทยไม่สามารถหาช่องทางเข้าไปหารือกับผู้มีอำนาจตัดสินใจตัวจริงของบริษัทเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าไปวางขายสินค้าได้

5.   มีความเสี่ยงสูงจากการประท้วงขอขึ้นค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล โดยเมื่อปี 2555 เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดเป็นลูกโซ่หลายครั้งในช่วงเดือน ส.ค. – ต.ค. 2555 ที่สำคัญ ได้แก่ (1) เมื่อวันที่ 10 – 16 ส.ค. 2555 ที่เหมืองแร่แพลทตินัม Marikana ของบริษัทอังกฤษ Lonmin ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 44 คน บาดเจ็บ 78 คน และเหตุการณ์ยุติลงโดยแรงงานที่เหมือง Marikana   ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 (2) บริษัท Anglo American Platinum ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่แพลทตินัมรายใหญ่ของโลกจำเป็นต้องหยุดดำเนินการในเหมืองแร่ที่ Rustenburg 5 ครั้งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

6.   เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2556 บริษัทจัดอันดับที่สำคัญ 3 บริษัท ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของแอฟริกาใต้ ดังนี้

 

ประเทศ

S&P Rating

S&P Outlook

Moody’s Rating

Moody’s Outlook

Fitch Rating

Fitch Outlook

แอฟริกาใต้

BBB

Negative

Baa1

Negative

BBB+

Negative

 

ข่าวสำคัญในเดือน ธ.ค. 2556

           เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2556 บริษัท Moody’s รายงานผลการจัดอันดับ 3 เมืองใหญ่ของ อฟต. โดย (1) นครโจฮันเนสเบิร์กได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้ในระดับชาติและการจัดอันดับหนี้เท่ากับ A1และ Prime-1  ซึ่งสะท้อนสถานะของเมืองหลวงด้านธุรกิจ ศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจของ อฟต. (2) เมืองเคปทาวน์ได้รับ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้ในระดับชาติและการจัดอันดับหนี้เท่ากับ Aa3 และ Prime-1 ซึ่งสะท้อนการดำเนินการด้าน งปม. ที่เข้มแข็ง และสถานะสภาพคล่องที่ดี และ (3) เมือง Ekurhuleni ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้ในระดับชาติและการจัดอันดับหนี้เท่ากับ Aa3 และ Prime-1 ซึ่งสะท้อนฐานทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ สภาพคล่องที่ดี และการใช้แนวทางอนุรักษ์นิยมในการบริหารจัดการทางการเงิน

             

                 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2556 บริษัท Fitch Rating ได้ให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินท้องถิ่นที่ BBB และ BBB+ โดยมุมมองที่มีเสถียรภาพ ตามลำดับ เนื่องจาก อฟต.มีระบบธนาคารที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ร้อยละ 14.9 และตลาดทุนภายในประเทศที่เข้มแข็ง โดยร้อยละ 92 ของหนี้รัฐบาล อฟต. จะอยู่ในสกุลเงินท้องถิ่นที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ 9.8 ปีซึ่งค่อนข้างสูง           ทำให้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและด้านการเงินต่ำ และให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจ อฟต. ว่า ค่อนข้างอ่อนแอและมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมากส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของประชาชนและการเงินของภาครัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองและสังคม ในขณะที่ภาคเหมืองแร่ซึ่งทำรายได้หลักให้กับ อฟต.ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เนื่องจากมีปัจจัยหนุนได้แก่ ค่าเงินแรนด์ที่อ่อนลงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และการปรับปรุง คสพ.ระหว่างรัฐบาลกับภาคแรงงาน โดยบริษัท Fitch Rating คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ อฟต.จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในปี 2556 ร้อยละ 2.8 ในปี 2557 และร้อยละ 3.5 ในปี 2558 และอัตราส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด / GDP ของ อฟต.ที่ร้อยละ 6 ในปี 2556 และสูงกว่าร้อยละ 5 ในปี 2557 - 2558

 

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย

                    3 กุมภาพันธ์ 2557

 

แหล่งข้อมูล

1.      ระบบฐานข้อมูลสถิติการค้าไทย กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร

2.      กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้

3.      หนังสือพิมพ์ Business Day แอฟริกาใต้

4.      สำนักงานสถิติแอฟริกาใต้



[1] SADC มีสถานะเป็นองค์กรกึ่งรัฐบาลมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกาบาโรน บอตสวานา ประกอบด้วย 15 ประเทศสมาชิก ได้แก่ แองโกลา บอตสวานา คองโก เลโซโท มาลาวี มอริเชียส โมซัมบิก นามิเบีย สวาซิแลนด์ แทนซาเนีย แซมเบีย ซิมบับเว แอฟริกาใต้ เซเซลล์ และมาดากัสการ์

[2]SACU ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ค.ศ. 1969 และมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ค.ศ. 1970 ถือเป็นเขตภาษีศุลกากรร่วมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ประเทศสมาชิกมี 5 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เลโซโท นามิเบีย แอฟริกาใต้ และสวาซิแลนด์