มาตรการกระตุ้นและสิ่งจูงใจในการลงทุนทำธุรกิจในแอฟริกาใต้

มาตรการกระตุ้นและสิ่งจูงใจในการลงทุนทำธุรกิจในแอฟริกาใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,896 view

มาตรการกระตุ้นและสิ่งจูงใจในการลงทุนทำธุรกิจในแอฟริกาใต้
 

แอฟริกาใต้มีการแบ่งมาตรการจูงใจแก่นักลงทุนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.      ธุรกิจเกี่ยวกับแนวคิด งานวิจัย และพัฒนา (Concept, Research and Development)สำหรับธุรกิจเอกชนที่ลงทุนในด้านการประดิษฐ์ ออกแบบ และปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ ๆ อาทิ

1.1  การให้เงินสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาขนาดเล็ก

1.2  การให้เงินสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่

1.3  มาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนา

1.4  การให้เงินสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่าง ๆ และ

1.5  การวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรรมยานยนต์ เป็นต้น

2.      ธุรกิจที่ลงทุนเป็นจำนวนมาก (Capital Expenditure)สำหรับธุรกิจเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อหรือยกระดับสินทรัพย์เพื่อการสร้างหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้   

2.1  อุตสาหกรรมขนาดเล็ก

2.2  อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

2.3  โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

2.4  เขตพัฒนาอุตสาหกรรม

2.5  การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และเสื้อผ้า และ

2.6  การลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น

3.      ธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน (Competitiveness Enhancement) สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการพัฒนาในภาคธุรกิจเฉพาะ อาทิ

3.1  การให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนและการตลาดเพื่อส่งออก

3.2  การผลิตภาพยนตร์

3.3  สหกรณ์

3.4  โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีผ่านกองทุนสตรี ‘Bavumile and Isivande Women’s Fund’ และ

3.5  การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านการผลิต


ทั้งนี้สามารถสืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์http://www.southafrica.info/business/investing/incentives/portal.htm#.URNn2me6WSo#ixzz2KCW6RhAh

 

*********************************************

 

 

 

ระบบภาษีในแอฟริกาใต้

                ระบบภาษีในแอฟริกาใต้แบ่งการจ่ายเงินได้ออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ รัฐบาลกลางผ่าน South African Revenue Services (SARS) หรือรัฐบาลท้องถิ่น โดยรายได้หลักของรัฐบาลกลางมาจากภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบริษัท และภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่รายได้หลักของรัฐบาลท้องถิ่นมาจากการจัดสรรของรัฐบาลกลางตามอัตราส่วนที่กำหนด

            ภาษีรายได้

            แอฟริกาใต้มีการจัดเก็บระบบภาษีแบบก้าวหน้าโดยมีสมมติฐานว่า คนรวยจะต้องจ่ายเป็นสัดส่วนเพื่อ สนับสนุนรัฐบาลที่มากกว่าคนจน ดังนั้น หากยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามอัตราร้อยละของรายได้

 

รายได้ (แรนด์)

อัตราภาษี

0-160,000

ร้อยละ 18

160,001 – 250,000

28,800 แรนด์ + ร้อยละ 25 ของเงินได้ที่เกิน 160,000 แรนด์

250,001 – 346,000

51,300 แรนด์ + ร้อยละ 30 ของเงินได้ที่เกิน 250,000 แรนด์

346,001 – 484,000

80,100 แรนด์ + ร้อยละ 35 ของเงินได้ที่เกิน 346,000 แรนด์

484,001 – 617,000

128,400 แรนด์ + ร้อยละ 38 ของเงินได้ที่เกิน 484,000 แรนด์

เกินกว่าหรือเท่ากับ 617,001

178,940 แรนด์ + ร้อยละ 40 ของเงินได้ที่เกิน 617,000 แรนด์

 

ภาษีบริษัท

                โดยปกติ อัตราภาษีบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 28 ของรายได้สุทธิของบริษัท โดยบริษัทที่เป็นประเภทธุรกิจขนาดเล็ก จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ (1) ร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิบริษัทที่อยู่ระหว่าง 59,750 ≤ 300,000 แรนด์ และ (2) ร้อยละ 28 ของรายได้บริษัทที่เกินกว่า 300,000 แรนด์ และบริษัทจัดหางาน (Employment Company) จะเสียภาษีอยู่ที่ร้อยละ 33

           

ภาษี Secondary Tax on Companiesหรือ STC

            STC เป็นนโยบายภาษีของรัฐบาลที่ต้องการให้บริษัทเก็บผลกำไรมากกว่าจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดยจะหักร้อยละ 10 ของเงินปันผลสุทธิของบริษัท

           

ภาษีที่ดิน

            ภาษีที่ดินซึ่งเป็นการโอนย้ายกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของซึ่งเกิดจากมรณกรรมของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ โดยปกติ จะหักภาษีร้อยละ 20 ของมูลค่าคงเหลือของที่ดินของผู้เสียชีวิตที่เกินกว่า 1.5 ล้านแรนด์

 

**************************

 

ธรรมเนียมปฏิบัติในการทำธุรกิจในแอฟริกาใต้

(Do and Don’t)

 

            แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ และเคยประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความแตกต่างทางประชากร ภาษา และวัฒนธรรม ซึ่งจบลงด้วยการหมดยุคการแบ่งแยกสีผิวและชาติพันธุ์ รัฐบาลแอฟริกาใต้ตั้งเป้าหมายจะขจัดการแบ่งแยกเชื้อชาติและพัฒนาอัตลักษณ์พิเศษที่เน้น ’ความเป็นแอฟริกาใต้’ หรือการเป็น ‘Rainbow Nation’

            ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวแอฟริกาใต้เนื่องจากสาเหตุ (1) ความแตกต่างทางเชื้อชาติ คนแอฟริกันผิวขาว คนแอฟริกันผิวดำ คนแอฟริกันอินเดีย และชุมชนอื่น (2) ความเหลื่อมล้ำของสังคมเมืองกับชนบท โดยคนชนบทจะเป็นคนเข้ากับคนง่ายแต่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ในขณะที่คนเมืองจะเป็นคนที่มีความคิดยืดหยุ่นกว่า แต่ค่อนข้างวัตถุนิยม (3) ความแตกต่างทางภาษา รัฐบาลแอฟริกาใต้รับรองภาษาราชการ 11 ภาษา ได้แก่ Afrikaans ภาษาอังกฤษ Ndebele, Pedi, Shanggan, Sotho, Tsona, Tswana, Venda, Xhosa และ Zulu อย่างไรก็ดี ภาษาอังกฤษใช้เป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารเชิงพาณิชย์

            คนแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่มีความเป็นมิตรและชอบสนทนา โดยหัวข้อที่มักหยิบยกมาก ได้แก่ (1) กีฬา เช่น รักบี้ ฟุตบอล และคริกเก็ต (2) อาหาร และเครื่องดื่ม เช่น ไวน์พื้นเมืองแอฟริกาใต้ และ (3) การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ไม่ควรเปรียบเทียบว่า ประเทศใดหรือเมืองใดดีกว่าอีกเมือง เนื่องจากพลเมืองของประเทศและเมืองนั้น ๆ ย่อมมีความภูมิใจในสถานที่ของตน และควรหลีกเลี่ยงประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ หรือการเมืองท้องถิ่น

 

            การติดต่อทางธุรกิจ

-             คนแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่ค่อนข้างลังเลที่จะทำธุรกิจกับคนที่ไม่รู้จักสนิทสนม ดังนั้น ควรมีการแนะนำตัวผ่านตัวแทนที่รู้จักของทั้งสองฝ่ายเพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

-             การหารือธุรกิจครั้งแรกมักเป็นการแนะนำตัวหรือสร้างความคุ้นเคยมากกว่าจะเป็นการหารืออย่างเคร่งครัด ความนิยมและความเชื่อใจเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำธุรกิจระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น

-             ควรมีการนัดหมายสำหรับการประชุมผ่านช่องทางปกติ ส่วนใหญ่ การกำหนดตารางเวลาเพื่อติดต่อ/นัดหมายทางธุรกิจในช่วงกลางเดือน ธ.ค. – ม.ค.ของทุกปี หรือสองสัปดาห์ก่อนและหลังเทศกาลอีสเตอร์และวันหยุดทางศาสนาอื่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากเนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว

-             ก่อนหน้าการประชุม ควรมีการเตรียมการและส่งวาระการประชุมให้บริษัทคู่ค้าพิจารณาล่วงหน้าและหากมีการนำเสนอผลงานทางธุรกิจ ควรทำให้กระชับและตรงประเด็น และมีสถิติที่เกี่ยวข้องเป็นข้อมูลประกอบ เนื่องจากการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อมูลตัวเลขมากกว่าสัญชาตญาณ

-              ถึงแม้ว่าบริษัทส่วนมากจะทำงานโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่มีบางกรณีที่การแปลเอกสารเป็นภาษาท้องถิ่น เช่น Afrikaans จะทำให้เกิดความประทับใจที่ดี โดยเฉพาะหากทำงานกับบริษัทที่ใช้ภาษา Afrikaans เป็นหลักในพื้นที่แถบ Bloemfontein และกรุงพริทอเรีย

-             เวลาทำการของบริษัทแอฟริกาใต้เหมือนประเทศทางตะวันตก นักธุรกิจแอฟริกาใต้จะไม่ทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ ยกเว้นพนักงานธนาคารและข้าราชการบางหน่วยงาน เนื่องจากธนาคารและหน่วยงานรัฐบาลมักเปิดทำการในช่วงเช้าของวันเสาร์

 

**********************************